shadow

สำหรับ Honda CB1000R คันนี้ เปิดตัวครั้งแรกในปี พ.ศ. 2560 ภายในงาน Tokyo Motor Show 2017 ซึ่งออกแบบมาให้เป็นรถเน็กเก็ตตามคอนเซป Neo Sport Café ที่ผสมผสานกันระหว่างความทันสมัย กับดีไซน์แบบคาเฟ่ ตามเอกลักษณ์ของ Honda เอง โดยในภายหลังเจ้า Honda CB1000R มีน้องๆ ตามกันออกมาอีก 3 รุ่น ได้แก่ Honda CB150R, Honda CB300R และ Honda CB650R ที่เราได้เคยรีวิวกันไปทั้งหมดแล้ว

Honda CB1000R ใช้ขุมพลังเครื่องยนต์ 4 สูบเรียง ขนาด 998 ซีซี บล็อกเดียวกันรถซุปเปอร์ไบค์รุ่นใหญ่ Honda CBR1000RR Fireblade รุ่นใหม่ล่าสุด แต่ได้มีการปรับในส่วนของกล่องควบคุมให้เหมาะสมกับการใช้งานกับรถเน็กเก็ต ซึ่งส่วนใหญ่เน้นการขับขี่ภายในเมืองซะมากกว่า

การออกแบบ

เอกลักษณ์ของรถในตระกูล Neo Sport Café หนีไม่พ้นไฟหน้าทรงกลมนั่นเอง Honda CB1000R ใช้ไฟหน้า LED ทรงกลมอันทันสมัย ในดีไซน์ที่ดูย้อนยุคสักนิด มาพร้อมกับไฟเลี้ยวที่เปิดติดตลอดเวลา ทำหน้าที่เป็นไฟหรี่ เสริมความหล่อให้ตัวรถไปในตัว

โช๊คอัพหน้า เป็นโช๊คอัพแบบหัวกลับสีดำจาก Showa ส่วนระบบเบรคเป็นดิสเบรคคู่ขนาด 310 มม. พร้อมปั้มเบรค 4 พอต จาก Tokico ส่วนยางหน้า ใช้ขนาด 120/70 ZR17

ทางด้านเรือนไมล์ ใช้เรือนไมล์แบบดิจิตอลพื้นหลังสีน้ำเงิน ตัดกับตัวสีขาว มองเห็นได้อย่างชัดเจนทั้งตอนกลางวันและตอนกลางคืน บอกข้อมูลการขับขี่ครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นมาตรวัดความเร็ว, มาตรวัดรอบเครื่อง, ตำแหน่งเกียร์, นาฬิกา, โหมดขับขี่ 4 โหมด (Sport, Road, Rain, User), ระดับการทำงานของระบบ Traction Control ป้องกันล้อหมุนฟรี, ระดับการทำงานของ Engine Break, และระดับของกำลังเครื่องยนต์ที่ใช้งาน นอกจากนี้ยังมีระดับน้ำมันเชื้อเพลิง, มาตรวัดอัตราสิ้นเปลือง และตัวจับทริปเหมือนรถทั่วไป

ทางด้านประกับแฮนด์ด้านขวา เป็นในส่วนของคันเร่งแบบไฟฟ้า ซึ่งทำงานได้คมมากๆ สอดรับกับโหมดการขับขี่ทุกโหมดที่ผู้ขับขี่เลือกใช้งาน ส่วนประกับแฮนด์จะมีเพียงปุ่มดับเครื่องและติดเครื่องยนต์

ทางด้านประกับแฮนด์ด้านซ้าย จะเป็นที่วางปุ่มควบคุมระบบการทำงานต่างๆ ในหน้าจอเรือนไมล์ทุกระบบ ไม่ว่าจะเป็นระดับ Traction Control, โหมดการขับขี่, ปุ่มเลือกเมนูต่างๆ เป็นต้น

มุมมองจะตำแหน่งเบาะนั่ง จะเห็นว่าแฮนด์ของรถรุ่นนี้จะไม่กว้างมากนัก ทำให้การขับขี่ทั้งในเมืองและการออกทริป สามารถทำได้โดยง่าย ส่วนถังน้ำมันของรถรุ่นนี้ออกแนวแบนราบไปกับตัวรถ โดยออกแบบให้ขยายไปทางด้านข้างซะเยอะหน่อย มาพร้อมปริมาตรความจุน้ำมันเชื้อเพลิงที่ 16.2 ลิตร

เบาะนั่งของ Honda CB1000R เป็นเบาะนั่งชนิด 2 ตอน แบ่งตำแหน่งที่นั่งคนซ้อนและคนขับออกจากกัน โดยตำแหน่งที่นั่งคนขับมีความสูงจากพื้นที่ 830 มม. ส่วนพักเท้าวางอยู่ในตำแหน่งที่ตรงกับที่นั่ง ทำให้ท่านั่งการขับขี่ค่อนข้างสบาย

อีกหนึ่งจุดเด่นสำคัญของ Honda CB1000R คันนี้ นั่นคือโปรอาร์มสุดเท่นั่นเอง โดยสวิงอาร์มด้านหลังของ Honda CB1000R รุ่นนี้เป็นชนิดโปรอาร์มแขนเดียว ซึ่งจะโชว์ลายล้อแม็กที่ฝั่งขวาได้อย่างสวยงาม ผสานกับท่อไอเสียขนาดใหญ่แบบ 2 รูที่ดูค่อนข้างอลังการมากๆ และตำแหน่งติดแผ่นป้ายทะเบียนที่อยู่บริเวณล้อหลังที่เท่มากๆ แบบไม่อยากถอดออกใส่ท้ายสั้นเลยทีเดียวเชียว ส่วนไฟท้ายนั้นใช้ดีไซน์เดียวกับ Honda CB650R ทุกประการ

เครื่องยนต์

เครื่องยนต์ของ Honda CB1000R คันนี้ ใช้เครื่องยนต์แบบ 4 สูบเรียง 4 จังหวะ 4 วาล์วต่อสูบ ระบายความร้อนด้วยน้ำ ปริมาตรกระบอกสูบที่ 998 ซีซี โดยใช้รหัสเครื่องยนต์ SC80E ซึ่งเป็นคนละตัวกับบนรถ Honda CBR1000RR ซึ่งตัวนั้นใช้รหัสเครื่องยนต์ SC77E แม้ว่าจะมีการออกแบบเครื่องยนต์, จำนวนลูกสูบที่เหมือนกัน แต่ทว่าอัตราส่วนกำลังอัดระหว่าง Honda CB1000R และ Honda CBR1000RR มีความแตกต่างกัน เนื่องด้วยรถเป็นคนละสไตล์นั่นเอง

การขับขี่

ในส่วนของการขับขี่นี้ ทาง Autospinn มีโอกาสได้ทดสอบเจ้ารถ Honda CB1000R คันนี้ในแทบจะทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการขับขี่เดินทางในเมือง, การขับขี่ออกทริปเดินทางไกล รวมถึงการขับขี่ภายในสนามแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นสนามช้างฯ ที่บุรีรัมย์ และสนามแก่งกระจาน เรียกได้ว่าครบทุกรูปแบบ

ในส่วนของการขับขี่เดินทางไกล บอกเลยว่า Honda CB1000R คันนี้ “สอบผ่าน” แบบสบายๆ ด้วยท่านั่งแบบรถเน็กเก็ตที่หลังตรง ประกอบกับถังน้ำมันขนาดใหญ่ที่ออกแบบรับเข้ากับท่านั่งขี่แบบหลังตรง ทำให้การขับขี่เดินทางไกลนั้นไม่ได้มีอาการปวดเมื่อยแต่อย่างใด

ในส่วนของเครื่องยนต์อันทรงพลัง ขนาด 1,000 ซีซี 4 สูบเรียง ที่สร้างพละกำลังสูงสุดได้ถึง 143 แรงม้าเลยทีเดียว โดยเราได้ทำการทดสอบการขับขี่ในทุกโหมด โดยเน้นหนักที่โหมด Sport เพื่อเอาประสิทธิภาพสูงสุดของตัวรถมาใช้งาน

ด้วยพละกำลังของเครื่องยนต์ที่สูงมาก ทำให้การเร่งแซงรถคันต่างๆ ที่ขับขี่อยู่บนถนนไม่ใช่อุปสรรคแต่อย่างใด เราสามารถเร่งแซงรถเหล่านั้นได้อย่างง่ายดายมากๆ เพียงบิดคันเร่งเพียงเล็กน้อย ก็สามารถพาเราขึ้นไปสู่ความเร็วมากกว่า 120 กม./ชม. ได้อย่างสบายๆ ส่วนความเร็วที่แนะนำให้ใช้สำหรับออกทริป โดยส่วนตัวผมคิดว่าความเร็วช่วง 100 – 120 กม./ชม. กำลังดี เนื่องจากได้ความเร็วที่ไม่สูงมากจนเกินไป และสามารถประเมิณสถานการณ์ต่างๆ ได้ง่าย

ในส่วนของช่วงล่างเดิมๆ ติดรถคันนี้ ค่อนข้างตอบโจทย์ให้กับผู้ขับขี่ที่ชื่นชอบช่วงล่างแบบสปอร์ต เนื่องด้วยช่วงล่างของเขาถูกเซ็ตมาให้เน้นการยึดเกาะกับถนนเป็นหลัก ทำให้การเข้าโค้งต่างๆ สามารถทำได้ค่อนข้างง่าย รถสามารถพลิกไปมาได้อย่างไม่ยากมากนัก ประกอบกับน้ำหนักตัวที่ไม่สูงมาก เพียง 212 กิโลกรัม แถมวางศูนย์ถ่วงต่ำมาก ทำให้รถรุ่นนี้ควบคุมได้ค่อนข้างง่าย

อีกหนึ่งทีเด็ดที่ผมมองว่าเจ๋งของรถรุ่นนี้คือแฮนด์บาร์ของเขาที่ไม่กว้างมากนัก ทำให้การขับขี่ลัดเลาะไปตามเส้นทางที่รถติดขัดไม่ต้องคอยกังวลว่าอาจจะไปเฉี่ยวชนพี่ๆ รถยนต์ด้วย

สำหรับการขับขี่ในสนามแข่ง ทางผู้ทดสอบมีโอกาสไปทดสอบขับขี่ที่สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จังหวัดบุรีรัมย์ อันเป็นสนามแข่งขันรายการแข่งรถจักรยานยนต์ทางเรียบชิงแชมป์โลกอย่าง MotoGP นั่นเองครับ ซึ่งสนามแห่งนี้เป็นสนามขนาดใหญ่ มาตรฐานระดับโลก ทำให้สามารถทดสอบความเร็วของรถได้อย่างเต็มที่

สำหรับความเร็วสูงสุดที่เราทำการทดสอบได้ในสนามนี้ ทำได้สูงกว่า 200 กม./ชม. ครับ และยังสามารถไปต่อได้อีก ทว่าทางตรงหมดเสียก่อน แต่รอบเครื่องยังเหลืออีกเยอะ จึงขอยืนยันได้ว่า สำหรับผู้ที่ชื่นชอบความเร็ว เจ้า Honda CB1000R สามารถจัดให้ท่านได้อย่างแน่นอน

ทางด้านอัตราเร่งของ Honda CB1000R มีอัตราเร่งที่ดีมาก ด้วยแรงบิดที่สูงมากถึง 104 นิวตันเมตร ทำให้การออกตัวจาก 0 – 100 ใช้เพียงแค่เกียร์ 1 เท่านั้นเอง และการทำความเร็วถึง 200 กม./ชม. นั้น แค่เกียร์ 3 ก็ทำความเร็วได้ทะลุไปแล้ว

สรุป

Honda CB1000R เป็นรถมอเตอร์ไซค์แนว Neo Sport Cafe ที่นอกจากมีดีไซน์ที่สวยงาม ไม่เหมือนใครแล้ว ยังมาพร้อมกับความเร็ว ความแรง และความหล่ออีกด้วย อีกทั้งโหมดขับขี่ต่างๆ ที่ใช้งานได้จริง และมีความจำเป็น ทำให้รถคันนี้เหมาะสำหรับผู้ขับขี่ที่มีประสบการณ์ขับขี่รถบิ๊กไบค์ไม่สูงมากนัก ก็สามารถควบคุมรถคันนี้ได้อย่างไม่ยากเย็น แต่สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยสัมผัสกับรถบิ๊กไบค์มาก่อน แนะนำว่าลองหาโอกาสเรียนกับศูนย์ฝึกขับขี่ปลอดภัยของทาง AP Honda ก่อนเป็นการดี นอกจากเพื่อความสามารถในการรีดประสิทธิภาพรถสูงสุดของเราแล้ว ยังช่วยสร้างความปลอดภัยในการใช้รถได้ดีขึ้นด้วยครับ

ข้อมูลทางเทคนิค

ประเภท4 สูบเรียง DOHC 4 จังหวะ 4 วาล์วต่อสูบ ระบายความร้อนด้วยน้ำ
ปริมาตรกระบอกสูบ998 ซีซี
พละกำลังสูงสุด143.5 แรงม้า ที่ 10,500 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด104 นิวตันเมตร ที่ 8,250 รอบ/นาที
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง17.2 กม./ลิตร
เกียร์6 สปีด
ระบบขับเคลื่อนโซ่

ตัวรถ

เฟรมแบคโบน
โช๊คหน้าโช๊คอัพหัวกลับจาก Showa 
โช๊คหลังโช๊คอัพสปริงเดี่ยวจาก Showa
เบรคหน้าดิสเบรคคู่ ขนาด 310 มม. พร้อมปั้มเบรค 4 พอต
เบรคหลังดิสเบรคเดี่ยว ขนาด 256 มม. พร้อมปั้มเบรค 2 พอต
ยางหน้า120/70 ZR17
ยางหลัง190/55 ZR17

มิติรถ

ขนาด ยาว x กว้าง x สูง (มม.)2,120 x 789 x 1,095
ความสูงเบาะ830 มม.
ระยะฐานล้อ1,455 มม.
ความสูงจากพื้นถึงเครื่อง135 มม.
น้ำหนักตัวพร้อมใช้งาน212 กก.
น้ำมันเชื้อเพลิง16.2 ลิตร

ที่มา – autospinn.com

Author

narush

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *